ตาบอดกลางคืน (Night Blindness) เป็นอาการมองเห็นไม่ชัดเจนในเวลากลางคืนหรือเมื่ออยู่ในสถานที่ที่มีแสงสลัว โดยอาการนี้อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น พันธุกรรม การขาดวิตามินเอ สายตาสั้น โรคต้อกระจก โรคต้อหิน ความผิดปกติที่เรตินาหรือจอประสาทตา และการใช้ยาบางชนิด เป็นต้น โดยวิธีรักษาอาการนี้จะแตกต่างกันไปตามสาเหตุ
อาการตาบอดกลางคืน
ผู้ที่มีอาการตาบอดกลางคืนจะพบปัญหาในการมองเห็นในที่มืด รวมทั้งที่ที่มีแสงสลัวหรือมีแสงสว่างไม่เพียงพอ ซึ่งมักเกิดขึ้นเมื่อต้องมีการปรับสายตาจากบริเวณที่มีความสว่างมากไปยังบริเวณที่มืดหรือมีแสงน้อย เช่น เปลี่ยนสถานที่จากบริเวณที่มีแดดจ้าเข้าไปสู่ร้านอาหารที่มีแสงสลัว ขับรถในเวลากลางคืนซึ่งแสงไฟสว่างไม่สม่ำเสมอ เป็นต้น
สาเหตุของอาการตาบอดกลางคืน
อาการตาบอดกลางคืนอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้
ปัญหาสายตา เช่น สายตาสั้น ต้อหิน ต้อกระจก โรคกระจกตาย้วย โรคเบาหวานขึ้นตา และความผิดปกติที่เรตินาหรือจอประสาทตา เป็นต้น
การขาดวิตามินเอ ซึ่งมีส่วนช่วยบำรุงสายตาและการมองเห็น
โรคหรือภาวะทางพันธุกรรม เช่น โรคจอประสาทตาเสื่อมชนิดอาร์พี กลุ่มอาการอัชเชอร์ เป็นต้น
การใช้ยารักษาโรคต้อหินที่มีผลทำให้รูม่านตาหดตัวลง อย่างยาในกลุ่มโคลิเนอร์จิก เอเจนท์ เช่น ไพโลคาร์พีน เป็นต้น
ทั้งนี้ คนบางกลุ่มอาจมีความเสี่ยงต่ออาการตาบอดกลางคืนมากกว่าคนทั่วไป เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ขาดแคลนอาหาร ผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยด้วยโรคซิสติกไฟโบรซิส ผู้ที่ประสบปัญหาด้านการดูดซับไขมันในร่างกาย ผู้ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง และผู้ป่วยโรคเบาหวาน เป็นต้น
การรักษาอาการตาบอดกลางคืน
การรักษาอาการตาบอดกลางคืนจะขึ้นอยู่กับสาเหตุด้วย ซึ่งสามารถทำได้หลายรูปแบบ ดังนี้
การใช้เลนส์ปรับค่าสายตา แพทย์อาจแนะนำให้สวมแว่นตาหรือใส่คอนแทคเลนส์ เพื่อช่วยให้การมองเห็นดีขึ้นทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน
การรับประทานวิตามินเอ กรณีที่ผู้ป่วยได้รับวิตามินเอในปริมาณที่ไม่เพียงพอ แพทย์อาจแนะนำให้รับประทานอาหารที่มีวิตามินเอสูง หรือรับประทานวิตามินเอเสริมในปริมาณที่เหมาะสมตามที่แพทย์แนะนำ
การผ่าตัดต้อกระจก แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ที่มีอาการตาบอดกลางคืนจากโรคต้อกระจกเข้ารับการผ่าตัดต้อกระจก ซึ่งเป็นการผ่าตัดนำเลนส์ตาที่ขุ่นออก เพื่อใส่เลนส์แก้วตาเทียมทดแทน ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถมองเห็นได้ชัดเจนขึ้น
การดูแลตนเอง ผู้ป่วยอาจสวมแว่นกันแดดหรือสวมหมวกปีกกว้าง เพื่อหลีกเลี่ยงแสงจ้าและช่วยปรับสายตาเมื่อต้องเปลี่ยนสถานที่จากที่สว่างไปอยู่ในที่มืดอย่างรวดเร็ว รวมทั้งหลีกเลี่ยงการขับรถในเวลากลางคืนด้วย
ทั้งนี้ แม้อาการตาบอดกลางคืนที่เกิดจากโรคหรือภาวะทางพันธุกรรมอย่างโรคจอประสาทตาเสื่อมชนิดอาร์พีจะไม่สามารถรักษาได้ เนื่องจากข้อบกพร่องทางพันธุกรรมที่ทำให้เกิดเม็ดสีขึ้นที่เรตินาหรือจอประสาทตาจะทำให้ไม่เกิดการตอบสนองต่อการใช้เลนส์ปรับค่าสายตาและการผ่าตัด แต่ผู้ที่มีอาการตาบอดกลางคืนที่เกิดจากพันธุกรรมควรใช้ชีวิตด้วยความระมัดระวังเสมอ และหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุ เช่น การขับรถในเวลากลางคืน เป็นต้น